โทรศัพท์มือถือในยุคปัจจุบัน สามารถให้ความสะดวกสบายมากมายกว่าการใช้เพื่อพูดคุยติดต่อสื่อสาร โทรศัพท์มือถือสามารถโอนเงิน – จ่ายเงินได้ ดูหนัง-ฟังเพลง หรือใช้เรียนหนังสือได้ และยังใช้ทำงานหรือประชุมทางไกลได้อย่างไม่มีข้อจำกัด นั่นจึงทำให้โทรศัพท์มือถือกลายเป็นหนึ่งในปัจจัยหลักของการใช้ชีวิตสำหรับผู้คนยุคดิจิทัลไปแล้ว
ผู้คนจำนวนมากที่ต้องติดโทรศัพท์มือถือไว้กับตัว และต้องคอยตรวจสอบข้อมูลบนหน้าจอโทรศัพท์แทบตลอดเวลา จนเริ่มมีผลกระทบต่อพฤติกรรม กระทบต่อสุขภาพร่างกายและจิตใจ เข้าข่ายเป็นอาการของโรคกลัวการขาดมือถือหรือ “โนโมโฟเบีย” (Nomophobia) ที่กำลังเกิดขึ้นกับผู้คนในยุคดิจิทัลนี้
โนโมโฟเบีย (Nomophobia) มาจากคำว่า No mobile phone phobia เป็นอาการที่เกิดขึ้นกับผู้ที่มีอาการหวาดกลัว วิตกกังวล และกระสับกระส่าย เมื่อต้องอยู่โดยไม่มีโทรศัพท์มือถือ ในทางการแพทย์ถือว่าอาการนี้ถือเป็นปัญหาที่กระทบต่อสุขภาพจิต ในแง่ของความวิตกกังวล และกำลังจะมีการเสนอให้เป็นโรคในกลุ่มจิตเวชอีกด้วย
ลักษณะอาการที่เข้าข่าย โรคโนโมโฟเบีย
– ต้องพกโทรศัพท์มือถือติดตัวไว้อยู่ตลอดเวลา ไม่ว่าจะไปในที่ใด ๆ ก็ตาม จะต้องมีโทรศัพท์มือถืออยู่ใกล้ ๆ ไม่เว้นแม้แต่การเข้าห้องน้ำเพื่อทำธุระส่วนตัว ก็จะต้องพกโทรศัพท์ไปด้วย
– ต้องเช็คข้อมูลจากโทรศัพท์ตลอดเวลา ไม่ว่าจะเป็นข้อมูลเรื่องการงานสำคัญหรือข้อมูลทั่วไปในสื่อโซเชียลเน็ตเวิร์ก อย่างเฟซบุ๊ก หรืออินสตาแกรม บางคนยังต้องอัพ Status ของตัวเองบ่อย ๆ เพื่อให้ดู Active อยู่ตลอดเวลา
– ตื่นมาในตอนเช้า จะรีบหยิบโทรศัพท์มือถือมาเปิดและเช็คดูข้อมูลในโทรศัพท์เป็นภารกิจแรก และจะวางโทรศัพท์เป็นสิ่งสุดท้ายก่อนนอนเสมอ หลายคนยังเปิดโทรศัพท์ไว้ตลอดคืนโดยไม่ยอมปิด
– ใช้ชีวิตในการพูดคุยติดต่อกับผู้คนทางโทรศัพท์มือถือมากกว่าผู้คนรอบตัวในชีวิตจริง ทั้งการแชตไลน์และคอมเมนต์โต้ตอบเรื่องราวต่าง ๆ ผ่านสื่อโซเชียล ซึ่งทำให้คนที่เป็นกลุ่มโนโมโฟเบีย จะมีเพื่อนและคนรู้จักในโลกออนไลน์มาก ตรงข้ามกับจำนวนเพื่อนที่มีในชีวิตจริง
– มีความกังวลสูงเมื่อหาโทรศัพท์มือถือไม่เจอ จะกระสับกระส่าย ไม่มีสมาธิทำงานหรือกิจกรรมอื่น ๆ หากว่ายังหาโทรศัพท์มือถือไม่พบ
หากพบว่าตนเองเริ่มมีสัญญาณ 5 ข้อนี้ ก็หมายความว่าเริ่มมีอาการของโรคโนโมโฟเบียแล้ว ควรต้องรีบแก้ไขไม่ให้ติดโทรศัพท์มากไปกว่าที่เป็นอยู่ เพราะจะส่งผลกระทบต่อสุขภาพมากขึ้น ซึ่งการแก้อาการโนโมโฟเบีย สามารถทำได้ด้วยการปรับพฤติกรรมดังต่อไปนี้
1. หากิจกรรมอย่างอื่นทำ เช่น ออกกำลังกาย ไปทำกิจกรรมกับเพื่อน ๆ หรือ ไปทานอาหาร ดูหนัง ฟังเพลง
2. ตั้งกติกาให้ตัวเองและกลุ่มเพื่อน เช่น จะไม่หยิบโทรศัพท์มาดูในช่วง 1 ชั่วโมงที่นั่งคุยอยู่ด้วยกัน หรือ ตั้งกฎให้ตัวเองต้องวางโทรศัพท์มือถือ 30 นาที ทุก ๆ 2 ชั่วโมง
3. ไม่นำโทรศัพท์มือถือเข้าไปในห้องนอน และปิดโทรศัพท์ในตอนกลางคืน
คนยุคดิจิทัล ควรเริ่มสำรวจอาการโนโมโฟเบียของตัวเองเสมอ ๆ และรีบแก้ไขพฤติกรรมอย่างเร่งด่วน เพื่อสร้างสมดุลที่ดีให้กับทั้งชีวิตจริงและชีวิตในโลกออนไลน์