ช่วงปลายเดือนเมษายนที่ผ่านมา เสียงเตือนที่ผิดปกติดังออกมาจากโทรศัพท์มือถือหลายล้านเครื่องทั่วสหราชอาณาจักร นั่นคือการทดสอบบริการแจ้งเตือนเหตุฉุกเฉินแห่งชาติเป็นครั้งแรก มีผลกับโทรศัพท์มือถือและแท็บเล็ตที่รองรับคลื่น 4G และ 5G หลายล้านเครื่องทั่วประเทศ เป้าหมายเพื่อใช้เตือนประชาชนว่าเกิดสถานการณ์ฉุกเฉินที่คุกคามชีวิต เช่น น้ำท่วม ไฟป่า และอันตรายอื่น ๆ ในบริเวณใกล้เคียง
เมื่อวันที่ 23 เมษายน ระหว่างการทดสอบช่วงเวลา 15.00 น. คนนับล้านได้รับการแจ้งเตือนฉุกเฉินเพื่อทดสอบระบบใหม่ทั้งบนโทรศัพท์มือถือและแท็บเล็ตหลายล้านเครื่อง ข้อความแจ้งเตือนปรากฏบนอุปกรณ์ พร้อมเสียงเตือนดังและสั่นราวๆ 10 วินาที แม้ว่าโทรศัพท์มือถือจะปิดเสียงอยู่ก็ตาม ผู้ที่ได้รับการแจ้งเตือนฉุกเฉินจะต้องคลิกข้อความหรือปัดข้อความนั้นออกไป ก่อนจะใช้อุปกรณ์มือถือได้ตามปกติ สำหรับเรื่องเวลาทดสอบระบบ ในโทรศัพท์บางรุ่นอาจส่งเสียงเตือนก่อนเวลาที่กำหนด และบางเครื่องจะส่งเสียงเตือนหลังจากนั้นเล็กน้อย
บริการแจ้งเตือนเหตุฉุกเฉินคืออะไร? เหตุใดจึงจำเป็น
บริการแจ้งเตือนเหตุฉุกเฉินเป็นระบบใหม่ที่จำเป็นต้องทดสอบความพร้อมใช้งานก่อน ระบบใหม่ของอังกฤษนี้คล้ายกับในสหรัฐอเมริกา แคนาดา เนเธอร์แลนด์ และญี่ปุ่น โดยระบบจะส่งข้อความแจ้งเตือนทางโทรศัพท์มือถือ 4G และ 5G เพื่อให้ทราบว่าเกิดความเสี่ยงในกรณีฉุกเฉินที่คุกคามชีวิต ช่วยให้ผู้คนรอดพ้นจากสถานการณ์ที่มีอันตรายต่อชีวิต สุขภาพ หรือทรัพย์สิน เช่น น้ำท่วมรุนแรง แผ่นดินไหว ไฟป่า ฯลฯ
ใครจะส่งข้อความหรือสัญญาณแจ้งเตือนฉุกเฉิน?
แผนกที่รับผิดชอบส่งข้อความแจ้งเตือนมีเฉพาะหน่วยงานรัฐบาลและหน่วยงานสาธารณะที่จัดการกับเหตุฉุกเฉินเท่านั้น หากคุณได้รับการแจ้งเตือนเหตุฉุกเฉินในโทรศัพท์มือถือ จะได้ยินเสียงดังคล้ายเสียงไซเรนมาพร้อมกับข้อความแจ้งบนหน้าจอเกี่ยวกับเหตุฉุกเฉินและวิธีการตอบรับมือที่ดีที่สุด เช่น “นี่คือการทดสอบการแจ้งเตือนเหตุฉุกเฉิน ซึ่งเป็นบริการใหม่ของรัฐบาลอังกฤษที่จะเตือนคุณหากมีเหตุฉุกเฉินที่เป็นอันตรายต่อชีวิตในบริเวณใกล้เคียง”
หลังจากได้รับข้อความนี้แล้ว เจ้าของโทรศัพท์เพียงแค่ปัดข้อความหรือคลิกตกลงเท่านั้นก็เรียบร้อย ในกรณีที่กำลังขับรถหรือไม่ต้องการรับข้อความแจ้งเตือนสามารถตั้งค่าอุปกรณ์โทรศัพท์ว่าไม่ต้องการรับคำเตือนในระหว่างการทดสอบก็ได้ แน่นอนว่าไม่ใช่ว่าทุกคนจะพอใจการทดสอบระบบแจ้งเตือนเหตุฉุกเฉินนี้ โดยคิดว่ารัฐบาลตั้งใจแทรกแซงโทรศัพท์มือถือและรุกล้ำความเป็นส่วนตัวของประชาชน อย่างไรก็ตาม การทดสอบระบบแจ้งเตือนมีความปลอดภัยและเป็นการส่งข้อความทางเดียว ไม่จำเป็นต้องตอบรับและไม่มีค่าใช้จ่าย อีกทั้งไม่เปิดเผยตำแหน่งของเจ้าของโทรศัพท์มือถือหรือเก็บข้อมูลส่วนบุคคลแต่อย่างใด
ระบบเตือนภัยเช่นนี้จะมีประโยชน์มากในเหตุการณ์น้ำท่วม ตัวอย่างเช่น เมื่อครั้งน้ำท่วมเมืองเชฟฟิลด์ในอังกฤษช่วงปี 2565 ที่จอดรถและถนนหลายสายถูกน้ำท่วมไหลบ่าเข้ามาอย่างรวดเร็ว หากมีบริการแจ้งเตือนเหตุฉุกเฉินแล้วน่าจะสามารถแจ้งเตือนทุกคนที่อยู่ใกล้เคียงให้เตรียมรับมือได้รวดเร็วและปลอดภัย