“โทรศัพท์มือถือ” กลายเป็นความจำเป็นปัจจัยที่ 5 ของมนุษย์ยุคดิจิทัล จากผลสำรวจล่าสุดในปีที่แล้วพบว่าคนไทยมีโทรศัพท์มือถือใช้ถึง 92.33 ล้านเลขหมายจากคนไทยทั้งประเทศประมาณ 70 ล้านคน ในจำนวนนี้มีการใช้โทรศัพท์มือถือเพื่อเล่นอินเทอร์เน็ตหรือ Social Media ราว ๆ 50 ล้านคน เฉลี่ยเวลาการใช้อินเทอร์เน็ตบนมือถือประมาณ 5 ชั่วโมงต่อวัน และแนวโน้มระยะเวลาในการใช้มือถือจะเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง
ข้อมูลตัวเลขเหล่านี้ สะท้อนอย่างดีถึงพฤติกรรมการใช้มือถือที่จะอยู่ในทุกกิจกรรมการใช้ชีวิตของผู้คน ไม่ว่าจะเป็นการท่องเที่ยว, ทำงาน, รับประทานอาหารและการสังสรรค์กับเพื่อนฝูง
อันตรายของโทรศัพท์มือถือ – เทคนิคสร้างความปลอดภัย
โทรศัพท์มือถือจะกลายเป็นเหมือนเพื่อนสนิทของผู้คนยุคดิจิทัล เรียกว่าไปไหนไปกัน ใครที่ลืมโทรศัพท์ไว้ที่ใดที่หนึ่งเป็นเวลานาน ๆ น่าเข้าใจดีว่า “ความกระวนกระวาย”จากการไม่ได้ดูโทรศัพท์มือถือเป็นอย่างไร แต่ยังมีคนอีกจำนวนมากที่มองข้ามความไม่ปลอดภัยของโทรศัพท์มือถือที่มีอยู่หลากหลายมิติ จึงใช้โทรศัพท์อย่างไม่ระมัดระวัง ซึ่งอาจทำให้เกิดปัญหาตามมาในอนาคตได้ ซึ่งความไม่ปลอดภัยนี้ได้แก่
เชื้อโรคและความสกปรก เนื่องจากโทรศัพท์เป็นอุปกรณ์สื่อสารที่คนพกติดตัวไปด้วยทุกที่ รวมถึงในที่สาธารณะ, ในห้องน้ำ หรือตามโรงพยาบาลต่าง ๆ ซึ่งมีเชื้อโรคอยู่มากมายที่คนเรามองไม่เห็น แต่มือถือกลับถูกทำความสะอาดน้อยมาก ทำให้เป็นแหล่งสะสมของเชื้อโรค ดังนั้น เทคนิคสร้างความปลอดภัย คือ ควรใช้สำลีชุบแอลกอฮอล์เช็ดทำความสะอาดโทรศัพท์มือถืออย่างสม่ำเสมอเพื่อลดความสกปรกและเชื้อโรค
เป็นสาเหตุของอุบัติเหตุ ผู้คนมักคุ้นเคยกับการติดตามข้อมูลข่าวสารจากโทรศัพท์มือถือแทบตลอดเวลาไม่เว้นแม้แต่ช่วงการขึ้นรถ, ลงเรือ, ขับรถ, เดินออกกำลังกาย ฯลฯ พฤติกรรมเหล่านี้ล้วนแล้วแต่มีความเสี่ยงที่จะทำให้เกิดอุบัติเหตุโดยไม่คาดฝันได้ง่าย เทคนิคสร้างความปลอดภัย คือ ปิดโทรศัพท์ระหว่างการทำกิจกรรมเหล่านี้ เพื่อตัดความกังวล หรือพะวงกับการรับข้อมูลข่าวสาร
การใช้โทรศัพท์ขณะกำลังชาร์จ ถือว่าเป็นเรื่องที่อันตรายอย่างมาก เพราะจะมีความเสี่ยงที่จะเกิดกระแสไฟฟ้ารั่วไหลระหว่างที่ชาร์จซึ่งทำให้เกิดกรณีเสียชีวิตและได้รับบาดเจ็บแล้วหลายครั้ง เทคนิคสร้างความปลอดภัย คือ ต้องปิดโทรศัพท์ขณะชาร์จ ไม่ชาร์จไปพร้อมกับใช้โทรศัพท์
การใช้โทรศัพท์ใกล้กับสายไฟฟ้าแรงสูง หลายคนอาจลืมคิดไปว่า อุปกรณ์โทรศัพท์มือถือ สามารถใช้นำกระแสไฟฟ้าได้เป็นอย่างดี การนำโทรศัพท์ใช้ใกล้กับเสาหรือสายไฟฟ้าแรงสูงอาจทำให้ผู้ใช้ได้รับอันตรายจนถึงกับเสียชีวิตได้ เทคนิคสร้างความปลอดภัย คือ ไม่ใช้โทรศัพท์มือถือขณะอยู่ใกล้บริเวณสายไฟฟ้าแรงสูง
ปัญหาจากการใช้โทรศัพท์ต่อเนื่องเป็นเวลานาน หากใช้พูดคุยต่อเนื่องอาจกระทบต่อประสาทหูให้เสื่อมได้เร็วขึ้น โดยเฉพาะกรณีที่มีการเปิดเสียงไว้ในระดับสูง และหากใช้โทรศัพท์เพื่อการดูละคร, เล่นเกมส์หรืออ่านข้อมูลต่อเนื่องยาวนาน ก็จะมีปัญหาต่อสายตาได้เช่นกัน เทคนิคสร้างความปลอดภัย คือ จัดเวลาใช้โทรศัพท์ให้มีช่วงพักสายตา หรือไม่พูดคุยทางโทรศัพท์มือถือนานเกินไป
ทริคเหล่านี้เป็นแนวทางสร้างความปลอดภัยในการใช้โทรศัพท์มือถือให้ปลอดภัยที่สุด ซึ่งคนยุค 2020 ควรปรับใช้ให้เหมาะสม เนื่องจากเทคโนโลยีล้ำ ๆ จะมีการเปิดตัวตามมาในช่วงหลังจากนี้อีกมาก มีโอกาสที่จะใช้เวลากับโทรศัพท์มือถือยาวนานขึ้นอีก จึงควรถนอมร่างกายและสายตาไว้ ด้วยการใช้โทรศัพท์มือถืออย่างพอเหมาะและพอดี ให้เกิดความปลอดภัยสูงสุด